วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พัฒนาทางภาษาของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการทางภาษาในรูปแบบเชิงพฤติกรรม สามารถอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยแบ่งออกได้เป็น 7 ระยะ ดังนี้ คือ
1.ระยะเปะปะ (Random Stage) อายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ในระยะนี้พบว่าเด็กมีการเปล่งเสียงอย่างไม่มีความหมาย
2.ระยะแยกแยะ (Jergon Stage) อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี ในระยะนี้เด็กจะเริ่มแยกแยะเสียงที่เขาได้ยินในสภาพแวดล้อมและแสดงอาการจดจำเสียงที่ได้ยินได้ เด็กจะรู้สึกพอใจถ้าหากเปล่งเสียงแล้วได้รับการตอบสนองทางบวก
3.ระยะเลียนแบบ (Imitation Stage) อายุ 1 ถึง 2 ปี เด็กวัยนี้สนใจและเริ่มเลียนแบบ เสียงของเด็กที่เปล่งจะเริ่มมีความหมายและแสดงกิริยาตอบสนองการได้ยินเสียงของผู้อื่น
4.ระยะขยาย (The Stage of Expansion) อายุ 2 ถึง 4 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มหัดพูดเป็นคำๆ ระยะแรกจะเป็นการพูดโดยเรียกชื่อคำนาม เรียกชื่อคนที่อยู่รอบข้าง สิ่งของต่างๆที่อยู่รอบตัว รวมทั้งคำคุณศัพท์ที่เด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดกัน
5.ระยะโครงสร้าง (Structure Stage) อายุ 4 ถึง 5 ปี การรับรู้และการสังเกตของเด็กวัยนี้ดีขึ้นมาก ทำให้เด็กได้สังเกตการณ์ใช้ภาษาของบุคคลที่อยู่รอบข้าง และนำมาทดลองใช้ประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น การฟังนิทาน ดูรายการโทรทัศน์ เป็นต้น
6.ระยะตอบสนอง (Responding Stage) อายุ 5 ถึง 6 ปี พัฒนาการทางภาษาของเด็กวัยนี้จะเริ่มสูงขึ้น เพราะเด็กจะเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล เด็กได้พัฒนาคำศัพท์เพิ่มขึ้น รู้จักการใช้ประโยคอย่างเป็นระบบตามหลักไวยากรณ์ การใช้ภาษามีแบบแผนมากขึ้น
7.ระยะสร้างสรรค์ (Creative Stage) อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เด็กจะพัฒนาความสามารถทางภาษาได้สูงขึ้น สามารถจดจำสัญลักษณ์ทางภาษาได้มากขึ้น สำหรับด้านการพูด สามารถใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวน หรือคำที่มีความหมายลึกซึ้งได้
ระยะของพัฒนาการทางภาษาแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่เด็กจะสามารถพูดคำแรกออกมา เช่น “แม่” “ป้อ” ฯ จนกระทั่งสามารถพูดเป็นประโยคได้นั้น เด็กต้องผ่านกระบวนการสำคัญของพัฒนาการหลายขั้นตอน ทักษะทางภาษาขั้นแรกของเด็ก คือ การร้องไห้ แม้ว่าระยะแรกเด็กจะยังไม่สามารถพูดได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการสูญเปล่า แต่เด็กกำลังฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อปากและลิ้นให้ทำงานประสานกัน สังเกตเห็นได้จากทารกแบเบาะจะอ้าปาก ขยับปากบ่อยครั้ง รวมถึงแลบลิ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดในอนาคต ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของเด็กก่อนการพูด คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งกระบวนการนี้ เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ช่วงแรกๆของชีวิต และเมื่อเด็กอายุประมาณ 3 เดือน เด็กก็สามารถใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ โดยอาจใช้วิธีการทำเสียงต่างๆประกอบ จากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้น พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กก็จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการพูด การเรียนรู้คำศัพท์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: